ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลกันทาง line ในปัจจุบันนี้

1

จากที่มีการส่งต่อข้อความเกี่ยวกับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทีวีดิจิตอลกันทาง line ในขณะนี้ ทีมงานไอที24ชั่วโมง เห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญในชุดทำงานของ กสท. ของสำนักงาน กสทช. เพื่อความถูกต้องยิ่งขึ้น และได้ข้อมูลโดยสรุปดังนี้ ทีวีดิจิตอล สามารถใช้เสาอากาศแบบเดิมที่ใช้กับ 3,5,7,9,11,NBT,TPBS เหมือนในปัจจุบันได้ถ้าหากเสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งเดิมนั้นๆสามารถรองรับสัญญาณย่านความถี่ UHF ได้ เสาอากาศ สำหรับทีวีดิจิตอล สามารถใช้แบบ ในบ้าน หรือ นอกบ้านก็ได้ แต่ การรับสัญญาณภายในบ้าน อาจกระทำได้ถ้ารับในเขตตัวเมือง (โดยทั่วไปคือในเขตเทศบาลเมืองขึ้นไป) โดยแนะนำให้รับในห้องที่เป็นห้องเปิด คือมีหน้าต่างหรือประตู โดยเสาอากาศภายในควรเป็นแบบมี booster ขยายสัญญาณ หรือที่เรียกว่าเป็นแบบ active antenna ซึ่งจะรับการจ่ายไฟกระแสตรง 5V มาจากตัว Set-Top Box ซึ่งการติดตั้งเสาอากาศใกล้ๆกับหน้าต่างก็อาจจะช่วยการรับสัญญาณได้ดีขึ้น

ทีวีดิจิตอลที่ไทยใช้ ส่งระบบ DVB-T2 ซึ่งเป็นระบบ Mpeg4 ทีวีทุกระบบรับได้ โดยใช้กล่องรับสัญญาณระบบ DVB-T2  หากทีวีของท่านมีช่อง HDMI ภาพที่ออกมาจะก็จะชัดกว่าการเสียบสาย AV เป็นอย่างมาก (ระบบส่งสัญญาณโทรทัศน์ DVB-T2 กับมาตรฐานทางเลือกในการบีบอัดสัญญาณภาพหรือเสียงในแบบ MPEG2 หรือ MPEG4 เป็นคนละอย่างกัน แต่โดยทั่วไปการส่งสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในระบบ DVB-T2 ทั่วโลกในปัจจุบัน มักจะเลือกใช้มาตรฐานการบีบอัดสัญญาณภาพแบบ MPEG-4/H.264 AVC และมาตรฐานการบีบอัดสัญญาณเสียงแบบ MPEG-4/HE AACv2  ซึ่งแพร่หลายและให้ประสิทธิภาพสูงกว่า MPEG-2 มาก ซึ่งในไทยก็เลือกใช้มาตรฐานทางเลือกนี้เช่นกัน)

ทีวีระบบเก่าของไทย ไม่รองรับระบบดิจิตอล จึงต้องมีกล่องรับสัญญาณ DVB-T2 เช่นเดียวกับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ก่อนที่จะต่อเข้าทีวีอีกที แต่ปัจจุบันโทรทัศน์รุ่นใหม่ๆที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายรุ่นที่รองรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอล มีจูนเนอร์โทรทัศน์ดิจิตอลในตัวหรือที่เรียกว่า iDTV – Integrated Digital TV หรือภาษาชาวบ้านง่ายๆคือเอาฟังก์ชั่น Set-Top Box มาฝังในเครื่องทีวีเลย ปัจจุบันมี iDTV กว่า 66 รุ่นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเทคนิคโดยกสทช. ซึ่งสามารถดู list ได้ที่ http://broadcast.nbtc.go.th/tools/idtv และในการเลือกซื้อจะแนะนำให้สังเกตสติ๊กเกอร์รับรองการตรวจสอบมาตรฐานของ กสทช. ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ รวมถึงโลโก้และมาสค๊อตดิจิตอลทีวีของกสทช. เหมือนกับการเลือกซื้อ Set-Top Box เช่นกัน